วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประเภทของสารอาหาร

ประเภทของสารอาหาร

1.1 ประเภทของสารอาหาร

สารอาหาร คือ สารที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในอาหาร ซึ่งหลักทางโภชนาการแบ่งได้เป็น 6 ประเภทด้วยกันคือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ ซึ่งจัดรวมกลุ่มได้ ดังต่อไปนี้
1.1.1 กลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงาน ซึ่งได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ให้พลังงานแก่ร่างกายเพื่อใช้ในการทำงานและสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย ส่วนโปรตีนนอกจากจะให้พลังงานแล้วยังทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ต่างๆ
1.1.2 กลุ่มสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ซึ่งได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการต่างๆ ในร่างกายดำเนินอยู่ได้ แร่ธาตุบางชนิดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ส่วนน้ำซึ่งมีร้อยละ 70 ของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญในหลายกระบวนการ เช่น ช่วยให้ปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายเกิดขึ้นได้ ช่วยในการย่อยอาหารและดูดซึมอาหารเข้าสู่เซลล์ ช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกาย ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ เป็นต้น

1.1.1 กลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงาน

1. คาร์โบไฮเดรต เป็นส่วนประกอบอินทรีย์ที่พบในสิ่งมีชีวิตทั่วไป ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ที่รู้จักกันทั่วไปจะอยู่ในรูปของน้ำตาล แป้ง เซลลูโลส และไกลโคเจน เป็นต้น

คาร์โบไฮเดรตสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ

มอนอแซ็กคาไรด์ (Monosaccharide) หรือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งในโมเลกุลอาจมี C ตั้งแต่ 3 – 8 อะตอม แต่มอแซ็กคาไรด์ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาลที่มีคาร์บอน 5 หรือ 6 อะตอม อยู่ในโมเลกุล เช่น พวก เพนโตส (Pentose) มีสูตรโมเลกุลเป็น C5H10O5 ได้แก่ ไรโบส ไลโซส ไรบูโรส ฯลฯ ส่วนพวกเฮกโซส (Hexose) มีสูตรโมเลกุลเป็น C6H12O6 ได้แก่ ฟรุกโตส (Fructose) กลูโคส (Glucose) กาแลกโตส (Galactose) เป็นต้น

โอลิโกแซ็กคาไรด์ (Oligosaccharide) คือ คาร์โบไฮเดรตที่ประกอบด้วยมอนอแซ็กคาไรด์ตั้งแต่ 2 ถึง 10 โมเลกุล โอลิโกแซ็กคาไรด์ที่สำคัญ
1. ไดแซ็กคาไรด์หรือน้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบด้วย มอนอแซ็กคาไรด์สองโมเลกุลมีสูตรโมเลกุล C12H22O11 ตัวอย่างไดแซ็กคาไรด์ เช่น มอลโตส (Moltose) แลกโตส (Lactose) และซูโครส (Sucrose) ไดแซ็กคาไรด์อาจเกิดปฏิกิริยาการรวมระหว่างมอนอแซ็ก-คาไรด์สองโมเลกุล
2. ไตรแซ็กคาไรด์ (Trisaccharide) คือ คาร์โบไฮเดรต (น้ำตาล) ซึ่งประกอบด้วย มอนอ-แซ็กคาไรด์ (น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) สามโมเลกุล หรือคาร์โบไฮเดรตที่เกิดปฏิกิริยาไฮโดรลิซิสแล้วได้มอนอแซ็กคาไรด์สามโมเลกุล ไตรแซ็กคาไรด์ที่พบในธรรมชาติ ได้แก่ ราฟฟิโนส (Raffinose) (ประกอบด้วยฟรุกโตส+กลูโคส+กาแลกโตส) พบในน้ำตาลจากหัวบีท และพืชชั้นสูงอื่นๆ อีกหลายชนิด เมเลไซโตส (Melezitose) (ประกอบด้วยกลูโคส+กลูโคส+ฟรุกโตส) พบในพืชจำพวกสน

พอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) เป็นสารประกอบที่ซับซ้อนกว่าคาร์โบไฮเดรตอื่น พอลิแซ็กคาไรด์เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบด้วยมอนอแซ็กคาไรด์หลายๆ โมเลกุล รวมกันโดยเกิดพันธะระหว่างกันและกัน โดยมอนอแซ็กคาไรด์เป็นมอนอเมอร์ (Monomer) และเรียกกระบวนการที่มอนอเมอร์ (สารโมเลกุลเล็กๆ ) รวมตัวกันเป็นพอลิเมอร์แซ็กคาไรด์ซึ่งในกระบวนการนี้มีน้ำเกิดขึ้นด้วยจึงเรียกกระบวนการพอลิเมอไรเซชันของการเกิดพอลิแซ็กคาไรด์ว่า กระบวนการคอนเดนเซชันพอลิเมอไรเซชัน (Condensation Polymerization) พอลิแซ็กคาไรด์ที่รู้จักกันดีได้แก่ แป้ง (Starch) ไกลโคเจน (Glycogen) และเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งทั้งแป้ง ไกลโคเจนและเซลลูโลสต่างก็เป็นพอลิเมอร์ที่เกิดจากกลูโคส (มอนอเมอร์) หลายๆ โมเลกุลมารวมตัวกัน มีสูตรทั่วไปเป็น (C6H10O5)n เขียนสมการแสดงได้ดังนี้

nC6H12O6 (C6H10O5)n + nH2O
กลูโคส พอลิแซ็กคาไรด์ (แป้ง น้ำ ไกลโคเจน หรือเซลลูโลส)

1 ความคิดเห็น: