วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ขนาดของยาที่ต้องใช้

ขนาดของยาที่ต้องใช้
2.2.1 ขนาดของยาที่ต้องใช้

เพื่อไม่ให้ใช้ยาผิดขนาดคงต้องทำความเข้าใจมาตราที่ใช้ในการชั่งน้ำหนัก และการตวงปริมาตร

การชั่งน้ำหนัก
1 เกรน = 65 มิลลิกรัม
1 กรัม = 15.43 เกรน
1 ออนซ์ = 31.1 กรัม
1 มิลลิกรัม = 1000 ไมโครกรัม
1 กิโลกรัม = 2.2 ปอนด์

การตวงปริมาตร
1 มิลลิกรัม = 20 หยด
1 ช้อนชา = 5 มิลลิลิตร
1 ช้อนโต๊ะ = 15 มิลลิลิตร
1 ถ้วยชา = 120 มิลลิลิตร
1 ถ้วยแก้วน้ำ = 240 มิลลิลิตร
1 ไปนท์ = 473 มิลลิลิตร
1 ลิตร = 1,000 มิลลิลิตร
1 แกลลอน = 3.79 ลิตร


ปกติขนาดยาที่ใช้ในการบำบัดและรักษาโรค ได้ทำการศึกษาทดลองมาเป็นเวลานานต้องเป็นขนาดที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดการสนองตอบต่อยา และมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคให้ได้ผลดี และให้ผลข้างเคียงต่ำ ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมน้อยลง ขนาดของยาที่ใช้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การใช้ยาเกินขนาดอาจเกิดเป็นพิษ ในบางคราวอาจถึงตายได้ และรับประทานยาซ้ำ ผู้ป่วยบางรายมีการเข้าใจผิดคิดว่ายิ่งกินยาบ่อยๆ โรคจะหายเร็ว ตัวอย่าง ยาแก้ปวดลดไข้ควรรับประทานยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ถ้ารับประทานยาทุกๆ 2 ชั่วโมงทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ในครั้งต่อไปไม่ควรรับประทานยาเป็น 2 เท่า สำหรับยาน้ำควรใช้ช้อนตวงยา ถ้วยรินยาหรือหยอดหยดยาที่ได้มาตรฐาน การใช้ช้อนชา ช้อนโต๊ะ ที่ใช้ตามบ้านอาจไม่ได้ปริมาณที่ถูกต้อง ถ้าได้จำนวนยาไม่ถึงขนาดจะทำให้เชื้อโรคบางอย่างเกิดการดื้อยา และมีอาการป่วยเรื้อรัง 1 ช้อนชามาตรฐานเท่ากับ 5 มิลลิลิตร ช้อนชาที่ใช้ตามบ้าน เท่ากับ 3 – 4 มิลลิลิตร 1 ช้อนโต๊ะมาตรฐานเท่ากับ 15 มิลลิลิตร ช้อนโต๊ะตามบ้าน 10 – 12 มิลลิลิตร ยาน้ำแขวนตะกอนควรเขย่าก่อนรินยา ทุกครั้ง มิฉะนั้นจะได้ขนาดรับประทานของยาแต่ละครั้งไม่เท่ากัน



2.2.2 เวลาในการรับประทานยา

การใช้ยาที่ถูกต้องคือ ต้องรับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เช่น รับประทานก่อนอาหาร หลังอาหารทันที หรือก่อนนอน การรับประทานยาตามคำสั่งเหล่านี้มีความหมายและหลักการสำคัญที่ควรทราบดังต่อไปนี้คือ

รับประทานก่อนอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาก่อนรับประทานอาหาร ประมาณ ครึ่ง - 1 ชั่วโมง
หลักการสำคัญ คือ ต้องรับประทานยาในขณะที่ท้องว่างคือไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร ที่จะมาทำลายตัวยา ดังนั้นยาที่รับประทานก็จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากที่สุด มีผลในการออกฤทธิ์สูง
ตัวอย่างยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ เช่น ยากลุ่มเพนนิซิลิน ยกเว้นยาบางชนิด เช่น เตตร้าไซคลิน ฮีริโทรมัยซิน
หากลืมรับประทานก่อนอาหารให้รับประทานหลังอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง

รับประทานหลังอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 - 30 นาที

รับประทานหลังอาหารทันที หรือ พร้อมอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารก็ได้
หลักการสำคัญคือ ตัวยาประเภทนี้จะระคายต่อกระเพาะอาหารมาก ถ้าหากว่ารับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง จะทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลได้
ตัวอย่างยาที่ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เช่น ยากลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอสไพริน อินโดเมธาซิน ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน เป็นต้น

รับประทานก่อนนอน
หมายความว่า ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืน ประมาณ 15 - 30 นาที
เช่น ยาไดอะซีแพม
รับประทานเมื่อมีอาการ
หมายความว่า ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น อาการปวด ถ้าหากไม่มีอาการปวด ก็ไม่ต้องรับประทานยา โดยปกติแล้วจะกำหนดให้รับประทานยาทุก 4 - 6 ชั่วโมง
หลักการสำคัญ อย่ากินยาก่อนถึงกำหนด เพราะอาจเกิดพิษจากการรับประทานยาเกินขนาดได้
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล

2.2.3 ผลของยาต่อร่างกายมนุษย์

แม้วัตถุประสงค์หลักของการใช้ยาคือ ผลรักษา ก็ตาม แต่จะมีผลอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยแล้วแต่คุณสมบัติของยาและสภาพของผู้ใช้ยา
คำศัพท์เทคนิคซึ่งประชาชนหรือคนไข้มักจะได้ยินได้ฟังจากปากของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ดังนั้นหากทำความเข้าใจว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไรจะทำให้การสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับประชาชนนั้นราบรื่นอันจะช่วยให้การรักษาโรคด้วยยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่นี้ ก็ควรทำความเข้าใจกับคำเหล่านี้ให้ถ่องแท้ด้วย
ผลข้างเคียง เป็นผลของยาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับผลรักษา และผู้ป่วยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ บางครั้งอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย บางครั้งก่อให้เกิดความรำคาญหรือผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ส่วนใหญ่คืออาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง อาการง่วงนอนนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียน การขับรถในตอนกลางวัน แต่อาจทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายในตอนกลางคืน ในบางกรณีผลข้างเคียงของยาในการรักษาโรคอย่างหนึ่งอาจนำไปใช้เป็นผลรักษาโรคอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น ผลข้างเคียงของยาลดความดันเลือดบางตัวทำให้ขนดกถูกนำไปใช้เป็นยาปลูกผมสำหรับคนศีรษะล้าน เป็นต้น
ผลไม่พึงประสงค์ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาและมีผลเสียต่อผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบอื่นด้วย เช่น การใช้ยารักษาเบาหวานเกินขนาดทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนผู้ป่วยหมดสติ การใช้ยาระงับปวด-ต้านอักเสบทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวนานเกินไปทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน การใช้ยานอนหลับหรือยาคลายกังวลเป็นประจำทำให้เกิดอาการหลงลืม และ อันตรายจากการใช้ยาร่วมกันหลายตัว เป็นต้น
ผลพิษ เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือ
ผลของยาโดยตรงก็ได้ เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอลหากรับประทานมากเกินไปหรือติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เกิดพิษทำลายตับได้ ยาหลายชนิดทำให้เกิดผลพิษได้ในขนาดที่ใช้ปกติ เช่น ยารักษาโรคลมชักบางตัวมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ ยารักษาโรคจิตบางตัวทำให้เกิดพิษต่อระบบการสร้างเม็ดเลือด ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มทำให้เกิดพิษต่อไต เป็นต้น ในกรณีการใช้ยาเหล่านี้แพทย์หรือเภสัชกรจะต้องชี้แจงและเตือนให้ผู้ใช้ยาเฝ้าระวังอาการอันส่อถึงผลพิษดังกล่าวเสมอ ผลพิษส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและมักทุเลาหรือหมดไปเมื่อหยุดใช้ยาต้นเหตุ แต่ผลพิษบางอย่างอาจเกิดขึ้นเป็นการถาวร เช่น ผลพิษทำลายเซลล์ประสาทสมองของยาบ้า เป็นต้น
การแพ้ยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ของยาที่เกิดน้อยครั้งและคาดคะเนได้ยาก การแพ้ยานั้นเกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีปฏิกริยาโต้ตอบต่อยามากเกินไป โดยพยายามใช้กลวิธีต่างๆ กำจัดยาซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย แล้วผลสืบเนื่องจากการกำจัดยาโดยภูมิต้านทานนั้นเองทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีโอกาสแพ้ยาได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของยาที่ใช้นั้นและสถานภาพภูมิต้านทานของผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงคาดคะเนได้ยากว่าใครจะแพ้ยาอะไร แต่โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด-ต้านอักเสบ ยาต้านมะเร็ง มีโอกาสทำให้แพ้ได้มากกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ การแพ้ยาอาจมีอาการได้ต่างๆ กัน เช่น เป็นผื่น ปื้นบวม คัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ หอบหืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเดิน ความดันเลือดต่ำ มึนงง หมดสติ เป็นต้น
การติดยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวผู้ใช้ยาและสังคม เกิดจากยาทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานไปจากเดิม กลายเป็นต้องอาศัยอิทธิพลจากยาในการทำหน้าที่ปกติ ดังนั้นเมื่อใดที่ไม่ได้รับยา จิตใจและร่างกายก็จะโหยหายาดังกล่าวทำให้เกิดอาการอยากยา แสดงอาการขาดยาหรือลงแดง อาการอยากยาทำให้ผู้ติดยาต้องพยายามแสวงหายามาใช้ต่อโดยวิธีต่างๆ ทั้งชอบและมิชอบ ดังนั้นอาจกล่าวว่าการติดยาเป็นสภาวะที่ผู้ใช้ยาอยู่ภายใต้การควบคุมของยาก็ได้

2.2.4 วิธีการสังเกตยาที่เสื่อมคุณภาพ

ปกติบนฉลากยามีรายละเอียดต่างๆ แสดงไว้ เช่น ชื่อการค้าของยา ชื่อตัวยาสำคัญ ปริมาณยา ชื่อบริษัทผู้ผลิตยา ครั้งที่ผลิต วันที่ผลิต (MFG Date) หมายเลขทะเบียนยา ยาบางชนิดที่ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบเขาจะใส่วันหมดอายุของยา (Exp.Date) ไว้ด้วย โดยทั่วไปถือว่ายาที่ผลิตมาเกิน 5 ปีแล้ว เป็นยาที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่ายานั้นจะยังคงคุณภาพเหมือนเดิมก็ตาม ถึงแม้บางครั้งฉลากยาบอกว่ายายังไม่หมดอายุแต่อย่าเพิ่งเชื่อใจ จงตรวจสอบลักษณะยาทุกครั้งก่อนรับประทานหากพบว่ามีาสิ่งผิดปกติก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ยานั้นเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรรับประทาน นอกจากจะไม่ได้ผลในทางรักษาแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ขอย้ำว่าอย่ากินยาเสื่อมคุณภาพเป็นอันขาด
ในกรณีที่ยานั้นไม่มีข้อมูลบอกว่าผลิตเมื่อไร หรือหมดอายุเมื่อไร ขอแนะวิธีสังเกตดังนี้
1. ยาเม็ดที่เสื่อมภาพจะแตกร่วน กะเทาะ สีซีด ถ้าเป็นเม็ดเคลือบจะเยิ้มเหนียว
2. ยาแคปซูล ที่หมดอายุจะบวม โป่ง พอง หรือจับกันเป็นก้อน ยาในแคปซูลเปลี่ยนสี
3. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรด ยาแก้ท้องเสีย ถ้าตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรงๆ เท่าใดยาก็ไม่กระจายตัวแสดงว่ายานั้นเสีย
4. ยาน้ำเชื่อม ถ้าหากขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเปรี้ยว แสดงว่ายานั้นหมดสภาพแล้ว 5. ยาน้ำอีมัลชั่น เช่น น้ำมันตับปลา เมื่อเขย่าแล้วต้องรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน หากแยกชั้นแม้เขย่าแล้วก็ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน แสดงว่ายาเสียห้ามใช้เด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น