วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยาเสพติด

ยาเสพติด
2.4 ยาเสพติด

2.4.1 ความหมายของยาเสพติด

ยาเสพติด หมายถึง ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเสพโดยวิธีกิน ทา หรือฉีดเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง จะเป็นครั้งคราวหรือเป็นเวลานาน แล้วทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจโดยมีลักษณะสำคัญ 4
ประการคือ
1. เกิดความต้องการอย่างสุดจะอดกลั้นได้ (Compulsion) ที่จะต้องหายานั้นมาให้ได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม
2. จะต้องเพิ่มปริมาณของยาที่ใช้อยู่เรื่อยๆ
3. ตกเป็นทาสของยานั้นทางจิตใจ (Psychic Dependence) และทางกาย (Physical
Dependence) และถ้าหยุดเสพจะมีอาการขาดยา (Withdrawal Symptoms)
4. ทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้เสพและต่อสังคม

2.4.2 ประเภทของยาเสพติด

2.4.2.1 การแบ่งประเภทของยาเสพติดตามหลักวิชาการ
ยาเสพติดเหล่านี้ตามหลักวิชาการแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. แบ่งตามแหล่งที่เกิด แบ่งออกได้เป็น
1.1 ยาเสพติดธรรมชาติ เป็นสารที่กลั่นหรือสกัดได้จากพืชบางชนิดโดยตรง เช่น ฝิ่น โคเคอีน กัญชา รวมทั้งการนำสารจากพืชเหล่านั้นมาปรุงเป็นอย่างอื่น โดยกรรมวิธีทางเคมี เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ซึ่งทำมาจากฝิ่น เป็นต้น
1.2 ยาเสพติดสังเคราะห์ เป็นสารที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการด้วยกรรมวิธีทางเคมี นำมาใช้แทนยาเสพติดธรรมชาติได้ โดยสารที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นออกฤทธิ์เหมือนยาเสพติดธรรมชาติ เช่น เมทีดรีน ไฟเซปโตน เมทาโดน เป็นต้น
2. แบ่งตามฤทธิ์ของยาที่มีต่อร่างกายมนุษย์ แบ่งได้เป็น
2.1 ออกฤทธิ์กดประสาท ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ทางกดประสาท เมื่อเสพแล้วทำให้คลาย
ความทรมาน ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางร่างกาย บรรเทาความว้าวุ่นทางจิตใจ ทางอารมณ์ ช่วยคลายความหมกมุ่น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เซโคบาร์บาทาล เป็นต้น
2.2 ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ได้แก่ ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ในทางกระตุ้นประสาทและสมอง ในขณะที่ยาออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพเพิ่มพูนความสามารถชั่วระยะเวลาหนึ่ง ช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเอง ทำให้เกิดความสุข จิตใจปลอดโปร่ง เช่น โคเคอีน เป็นต้น
2.3 ออกฤทธิ์หลอนประสาท ได้แก่ ยาที่ทำให้ประสาทสัมผัสสูญเสียสมรรถภาพ เกิดความรู้สึกในทางสัมผัสประสาทโดยไม่มีสิ่งเกิดขึ้นจริง เช่น ภาพหลอน ได้ยินเสียงทั้งๆ ที่ไม่มีเสียง คิดว่าเป็นผู้วิเศษเหาะเหินเดินอากาศได้ เช่น แอลเอสดี ดีเอ็มที เป็นต้น
2.4 ออกฤทธิ์ผสมผสานกัน ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทผสมกันไป อาจออกฤทธิ์กดประสาท กระตุ้นประสาท หรือหลอนประสาทพร้อมกันไป เช่น กัญชา เมื่อเสพในจำนวนน้อยจะกดประสาทอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเสพมากขึ้นจะกลายเป็นพิษหลอนประสาทต่อไปได้
3. แบ่งตามลักษณะของสารที่ใช้ในวงการแพทย์
สำหรับวงการแพทย์ยังมียาและสารเคมีหลายอย่างที่เป็นสารเสพติดให้โทษ กล่าวคือ
พวกที่ 1 ได้แก่ ฝิ่น หรือสารที่มีส่วนประกอบของฝิ่น เช่น มอร์ฟีน ทิงเจอร์ ฝิ่น เฮโรอีน รวมไปถึงสารสังเคราะห์หลายอย่างที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน
พวกที่ 2 ได้แก่ ยานอนหลับต่างๆ ที่มีผลโดยตรงต่อสมองส่วนกลาง ยาพวกนี้จำหน่ายทั่วไป เช่น ฟีโนบาร์บีทาล เหล้าแห้ง ซอลเนอรัลทูวิบาล รวมทั้งยานอนหลับที่ใช้บาร์ทูเรต ได้แก่ ไบร์ไมต์ คลอรอล ไฮเดรตพารัลดีไฮด์ และยาสังเคราะห์ใหม่ๆ เช่น กลูตาไมล์และเมตากูอาโลน
พวกที่ 3 ยากระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน และใบกระท่อม
พวกที่ 4 ยาที่ทำให้ประสาทหลอน ได้แก่ กัญชา แอลเอสดี เอสทีพี ดีเอ็มที ยาเหล่านี้ทำให้ประสาทการรับฟังของคนเราผิดไปจากเดิม รวมทั้งสารอย่างอื่นและเห็ดบางอย่าง
พวกที่ 5 แอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งด้วยเพราะเมื่อดื่มจนติดแล้วจะทำให้ผู้ดื่มมีความต้องการและเพิ่มปริมาณการดื่มเรื่อยๆ ไป อีกทั้งมีโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ
2.4.2.2 การแบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย
เนื่องจากยาและสารหลายชนิด เมื่อนำมาใช้ผิดหลักการแพทย์หรือผิดวัตถุประสงค์ สามารถก่อให้เกิดการเสพติดขึ้น ถ้าเกิดการเสพติดจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อตัวผู้เสพ ครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศชาติได้ ในสภาวการณ์เช่นนี้จำเป็นที่ทางการต้องมีมาตรการในการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองสิ่งเหล่านี้ โดยการใช้อำนาจทางกฎหมายในการลงโทษผู้กระทำผิด สำหรับกฎหมายสำคัญซึ่งระบุประเภทของยาเสพติดที่ควรรู้จักไว้คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2530
พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2535 และพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533
ยาเสพติดให้โทษที่ระบุตามกฎหมายนี้มีมากมายหลายชนิดแต่ได้จัดแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ
ประเภท 1 เฮโรอีน อาเซทอร์ฟีน อีทอร์ฟีน ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง)
ประเภท 2 ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคอีน (โคเคน) ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไป)
ประเภท 3 ยาแก้ไอที่มีฝิ่น หรือโคเคอีนเป็นส่วนผสม ยาแก้ท้องเสียที่มีไดฟ์น็อคซิเลทเป็น
ส่วนผสม ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษชนิดเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ด้วย)
ประเภท 4 อาเซติคแอนไฮโดรด์ อาเซติลคลอไรด์ (เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2)
ประเภท 5 กัญชา กระท่อม (เป็นยาเสพติดให้โทษอื่นที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในประเภท 1 ถึง
ประเภท 4)
แต่เนื่องจากสถานการณ์ของการเสพติดเพิ่มความยุ่งยากขึ้นเพราะพบว่า นอกเหนือจากมีการใช้ยาเสพติดให้โทษในทางที่ผิดแล้วยังปรากฏว่า มีการใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในทางที่ผิดด้วย จึงทำให้ต้องออกกฏหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตใจและประสาทที่ระบุตามกฏหมายนี้มีมากมายหลายชนิด เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ แต่ได้จัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
ประเภท 1 ดีเอ็มที เมสคาลีน แอลเอสดี เตตราไฮโดรแคนนาบินอล ฯลฯ
ประเภท 2 แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน อีเฟตรีน เมทิลเฟนีเดทเซโคบาร์บาทาล เมทาควาโลน ฯลฯ
ประเภท 3 อะโมบาร์บิทาล ไซโคลบาร์บิทาล กลูเตทิไมด์ เมโปรบาเมต ฯลฯ
ประเภท 4 บาร์บิทาล ฟีโนบาร์บิทาล ไดอาซีแพม คลอไดอาซีพอกไซด์ ฯลฯ
สำหรับยาบ้านั้น จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 เนื่องจากมีส่วนผสมของแอมเฟตามีน หรือเมทแอมเฟตามีน หรืออีเฟดรีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 รวมอยู่ด้วย
และปัจจุบันได้มีการนำสารระเหย หรือวัตถุ หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีสารระเหยผสมหรือเจือปนอยู่ ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือทางอื่นไปใช้สูด ดม หรือวิธีอื่นใดอย่างแพร่หลายซึ่งก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่ผู้สูดดม ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชน และยังก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติโดยส่วนรวม นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับแก่สารระเหยโดยเฉพาะเพื่อดำเนินการป้องกันภัยของสารระเหยที่มีต่อความปลอดภัยสาธารณะ จึงมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารระเหยมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สำหรับสารระเหยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. เป็นสารเคมี เช่น อาซีโทน เอทิลอาซิเตต โทลูอีน
2. เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แล็กเกอร์ ทินเนอร์ กาว ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น