วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยากับชีวิตประจำวัน

ยากับชีวิตประจำวัน

มนุษย์รู้จักใช้ยามาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ อาจเป็นเนื้อ กระดูกสัตว์ รากไม้ และกิ่งใบของพฤกษชาติ ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีขนาดที่จะป้อนเข้าปากได้ หรือเอามาละลายในน้ำต้ม หรือทำเป็นน้ำมันและน้ำยาที่ใช้ทาได้ จนมาประมาณ ค.ศ.1700 มีการใช้ยานับจำนวนพันๆ ตำรับ แต่ปรากฏว่ามียาเพียง 30 – 40 ตำรับเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างแท้จริง เช่น ยาขับพยาธิในลำไส้ จากรากของต้น Malefern ราก Pomegranate น้ำมัน Santonin ใช้สารปรอทเป็นยาระบายและขับปัสสาวะ ต่อมาใช้รักษาโรคซิฟิลิส ใช้ราก Cinchona bark จากประเทศเปรูรักษาไข้มาเลเรีย Ipecacuanh จากบราซิล ใช้สำหรับขับเสมหะและอาเจียน เป็นต้น
ความเจริญของการค้นพบยา มาเริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 โดยเภสัชกรชาวเยอรมัน อายุ 23 ปี ชื่อ ฟรีดริช แซร์ทูเออเนอร์ (Friedrich Sertuemer) สามารถแยกมอร์ฟีนจากฝิ่นดิบ เมื่อ ค.ศ.1805 และนี่คือสัญญาณของการแยกวิเคราะห์ตัวยาใหม่ๆ ให้ติดตามมาอีกมากมาย และในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และนักเภสัชศาสตร์ก็ยังค้นคว้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เพราะยาจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์เราโดยเฉพาะยามที่เราเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย ยาจะเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาโรค แต่หารู้ไม่ว่ายาที่เราใช้อยู่นี้หากใช้มาก หรือนานเกินไปอาจเปลี่ยนจากคุณเป็นโทษได้ เพราะยามีผลแทรกซ้อนหรือฤทธิ์ข้างเคียงเสมอแทบทุกตัว ดังนั้น ประชาชนควรใฝ่หาความรู้ว่ายาใดมีประโยชน์อย่างไรและใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ปราศจากโทษ ถึงแม้ผู้ผลิตยาเองจะพยายามที่จะให้ยามีพิษหรือผลข้างเคียงน้อยที่สุดแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการขาดประสบการณ์ สะเพร่าหรือประมาทของผู้ใช้ยาก็จะกลายเป็นดาบสองคม ทำร้ายผู้ใช้ยาได้

2.1.1 ความหมายและประเภทของยา

2.1.1.1 ความหมายของคำว่ายา
ยา คือ วัตถุที่ใช้เพื่อให้มนุษย์หรือสัตว์หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
พ.ร.บ. ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตราที่ 1-49 ได้แบ่งประเภทของยาไว้ดังนี้
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“ยา" หมายความว่า
(1) วัตถุที่รับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศ
(2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือ ความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์
(3) วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือ
(4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ วัตถุตาม (1) (2) หรือ (4) ไม่หมายความรวมถึง
(ก) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมตามที่รัฐมนตรีประกาศ
(ข) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ เครื่องกีฬา เครื่องมือ เครื่องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือเครื่องมือและส่วนประกอบของเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะหรือวิชาชีพเวชกรรม
(ค) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในห้องวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัย การวิเคราะห์หรือ การชันสูตรโรคซึ่งมิได้กระทำโดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์
โรคภัยไข้เจ็บ คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจก็ได้ เป็นผลเนื่องมาจากเชื้อโรค มลพิษต่างๆ และภาวะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย แสดงอาการต่างๆ ที่เป็นอันตรายและทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
กล่าวโดยทั่วไป ยารักษาโรค คือ วัตถุที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเพื่อความมุ่งหมาย 6 ประการ
1. บำบัดโรค ยาที่ใช้มักเป็นตัวยาที่เจาะจงในการทำลายสาเหตุของโรคชนิดใดชนิดหนึ่งให้
หมดสิ้นไป เช่น ยารักษามาลาเรีย
2. รักษาโรค ยาที่ใช้รักษาโรคให้หายไปในระยะสั้น แต่อาจจะกลับเป็นขึ้นมาอีกก็ได้ เช่น ยาแก้ไข้หวัด
3. บรรเทาอาการ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ได้รับความทุกขเวทนา จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้นชั่วขณะ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้
4. ป้องกันโรค โรคบางอย่างอาจป้องกันได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ
5. วินิจฉัยโรค โรคบางชนิดจำเป็นต้องใช้กรรมวิธีต่างๆ ที่อาศัยยา เช่น ยาที่ใช้ในการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย และยาทดสอบภูมิแพ้ต่างๆ
6. เสริมสร้างสุขภาพ ได้แก่ วิตามิน และแร่ธาตุ
2.1.1.2 ประเภทของยา
ยารักษาโรคที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 9 ประเภท ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยาฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2530 ดังนี้
1. ยาแผนปัจจุบัน หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือการบำบัดโรคสัตว์
2. ยาแผนโบราณ หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผน
โบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
3. ยาอันตราย หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยา
อันตราย
4. ยาควบคุมพิเศษ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็น ยาควบคุมพิเศษ
5. ยาใช้ภายนอก หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายสำหรับใช้ภายนอก
6. ยาใช้เฉพาะที่ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายใช้เฉพาะที่กับ
ผิวหนัง หู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ
7. ยาสามัญประจำบ้าน หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ
เป็นยาสามัญประจำบ้าน
8. ยาบรรจุเสร็จ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันที่ได้ผลิตขึ้นเสร็จในรูปต่างๆ ทางเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้
9. ยาสมุนไพร หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสมปรุง หรือแปรสภาพ
เพื่อความสะดวกในการจำแนกประเภทยาตามเภสัชตำรับของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่แบ่งโดยอาศัยตำแหน่ง การออกฤทธิ์ทางกายวิภาคศาสตร์ และประโยชน์ทางการรักษา ดังนี้
1. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ตัวอย่างเช่น ยานอนหลับ
2. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัติโนมัติ ตัวอย่างเช่น อะโทรฟีน
3. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหายใจ ตัวอย่างเช่น ยาขยายหลอดลม
4. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ตัวอย่างเช่น ยาลดความดันเลือด
5. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น ยาลดกรด
6. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการสืบพันธุ์ และยาจำพวกฮอร์โมน ตัวอย่างเช่น ยาคุมกำเนิด
7. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อไต ตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ
8. ยาแก้แพ้ ตัวอย่างเช่น ยาแอนติฮิสทามีน
9. ยาลดอาการอักเสบ ตัวอย่างเช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์
10. ยาต้านจุลชีพ ตัวอย่างเช่น ยาจำพวกซัลฟานาไมด์
11. ยาอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ยารักษามะเร็ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น